บทบรรณาธิการ : 99 ศพต้องกระจ่าง


ศาลอาญา พิพากษายกฟ้องอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 และพนักงานสอบสวนอีก 2 นาย
คดีนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ร่วมกันเป็นโจทก์ในความผิดร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง
แต่ศาลชี้ว่าการแจ้งข้อกล่าวหา ทำในรูปของคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ ที่แต่งตั้งขึ้นหลังศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว
คณะกรรมการไม่มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาต่อ จึงไม่พอฟังว่าจำเลยกระทำผิด
เป็นเรื่องน่ายินดี ที่คดีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามลำดับ จนมีคำพิพากษาจากศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ก็ยังมีสิทธิต่อสู้ต่อในชั้นอุทธรณ์และฎีกา จนกว่าจะถึงที่สุด
แต่ในเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะอีกฝ่ายยังไม่มีโอกาสพิสูจน์ความเป็นธรรม แม้ศาลจะมีคำสั่งไต่สวนการตายของประชาชนในเหตุการณ์นั้น โดยชี้ว่ากระสุนมาจากฝายเจ้าหน้าที่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งไต่สวนการตายของพยาบาลอาสาและประชาชนรวม 6 ศพใน วัดปทุมวนาราม มีรายละเอียดที่เห็นได้ชัดเจนมากว่าถูกกระทำโดยฝ่ายใดและอย่างไร
จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ
ก่อนหน้านี้ คดีความเข้าสู่การพิจารณาในศาลอาญา ต่อมาศาลฎีกาชี้ว่าเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ต้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แต่ปรากฏว่าป.ป.ช.ชุดปัจจุบันมีมติไม่รื้อฟื้นคดีและส่งฟ้องตามที่ศาลฎีกาชี้ไว้ ความตายของประชาชนจึงยังคาราคาซังจนบัดนี้
ในเมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องร้องอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หัวหน้าชุดทำคดี และพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และแจ้งข้อหาบิดเบือนข้อเท็จจริงจนมีผลพิพากษาแล้ว
คดีที่มีคนตาย 99 ศพก็ยิ่งต้องทำให้เกิดความกระจ่าง ควรจะได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความจริง
Original from: https://www.khaosod.co.th 

Related Posts
Previous
« Prev Post