การให้อภัยที่ไม่ธรรมดา
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีหมิ่นประมาท น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอดีตส.ส.พรรคประชาปัตย์รวม 3 คน เป็นจำเลย กรณีจัดรายการโทรทัศน์กล่าวหาเสียดสี เหยียดหยาม โดยมีเรื่องทางเพศเกี่ยวข้องด้วย
นายศิริโชค โสภา นายเทพไท เสนพงศ์ และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ทั้งสองศาลพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 5 หมื่นบาท
คดีนี้ ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ ต่อมามีการโพสต์ขออภัยและสำนึกผิดของจำเลยทั้ง 3 คน รวมทั้งขอบคุณน.ส. ยิ่งลักษณ์ ที่ยินยอมให้อภัย
เป็นการแสดงความใจกว้างในแวดวงทางการเมืองที่ควรชื่นชม
แต่ต่อมาเกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อีก เมื่อมีการลบโพสต์ดังกล่าว ทั้งๆ ที่เวลาผ่านไปยังไม่ทันข้ามวัน จนเกิดคำถามต่อจำเลยทั้ง 3 คนว่า ไม่ได้สำนึกและรู้สึกผิดอย่างแท้จริงหรืออย่างไร
เป็นการรีบกลบเกลื่อน โดยอ้างว่าไม่ได้มีข้อตกลงว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด
สุดท้าย มีการเจรจายอมความกับทนายความของฝ่ายโจทก์ โดยฝ่ายจำเลยพร้อมที่จะโพสต์ข้อความขอขมาด้วยสำนึกผิดที่พูดจาจาด้วยความคึกคะนองและไม่เป็นความจริง จนถึงวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษา
น่ายินดีที่โจทก์ยอมรับคำขอโทษนี้ เพราะเห็นแก่ชีวิตทางการเมืองและครอบครัว
จริงอยู่ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นคดีลหุโทษ ไม่ควรมีใครต้องรับโทษทัณฑ์ถึงขั้นจำคุก เมื่อฝ่ายหนึ่งยอมรับผิด อีกฝ่ายก็สมควรจะให้อภัย
แต่ที่ผ่านมา หลายคดีของความผิดประเภทนี้ ก็ยังมีจำเลยหลายคนต้องรับโทษจำคุก ทำให้เสียสิทธิทางการเมืองไปอย่างน่าเสียดาย เพราะโจทก์บางคนใจไม่กว้างพอที่จะคิดให้อภัยคนอื่น
อย่างไรก็ตาม ความที่คดีนี้เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามทางเพศต่ออดีตนายกรัฐมนตรีหญิง ซึ่งกระทำโดยนักการเมืองชาย นับว่ารุนแรงกว่าการหมิ่นประมาทกันระหว่างนักการเมืองธรรมดา
จึงเป็นการให้อภัยที่ไม่ใช่ธรรมดา
Original from: https://www.khaosod.co.th